ข้าวนาปรังไทยทะลัก-ชนข้าวนาปีเวียดนาม ราคาตลาดโลกกอดคอร่วง

ชาวนาร้องระงม ข้าวราคาตก 3 นายกฯ สมาคมข้าวฯ เปิดสาเหตุ ข้าวนาปรังไทยทะลัก-ชนข้าวนาปีเวียดนาม ราคาตลาดโลกกอดคอร่วง "สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวฯ" ชูธงพันธุ์ข้าวไทย ยึดนาแทนข้าวเวียดนาม ขณะที่ สมาคมชาวนาฯ ขอแหล่งน้ำ เพิ่มทางรอดเกษตรกร ยกระดับชาวนาสู่ธุรกิจเกษตรกรรม
 
จากราคาข้าวเปลือกและข้าวสารที่ปรับตัวลดลงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ตลาดโลก อย่างมีนัยสำคัญ  
 
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาข้าวที่ปรับตัวลงมาเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวหลายประเทศ มีผลผลิตออกมามาก เช่นประเทศเวียดนาม ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และเป็นช่วงพีก ขณะที่ไทยข้าวนาปรังก็กำลังออกมามากเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด เวลาซัพพลายมีมากราคาก็อ่อนตัวลงมา บวกกับราคาข้าวเวียดนามในตลาดโลกก็ปรับตัวลงมาเช่นเดียวกับข้าวปากีสถาน ดังนั้นเพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ ข้าวไทยก็ต้องปรับลดราคาลงเช่นเดียวกันเพื่อให้ขายได้ ไม่เช่นนั้นลูกค้าจะหันไปซื้อเวียดนามเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะปกติของตลาด
 
 
“ส่วนการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการเจรจา และช่วงนี้อยู่ในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม การรับมอบสินค้าช้าลง ทำให้ความต้องการน้อยลง ทุกอย่างเลยช้าลงไป ราคาก็อ่อนตัวลง”
 
นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย  กล่าวถึง สาเหตุจากราคาข้าวปรับตัวลงมา เกิดจากผู้ส่งออกแจ้งราคารับซื้อข้าวสาร 5% ลงจาก 21,000 บาท/ตัน เป็น 20,000-20,020 บาท/ตัน  ส่วนปลายข้าวท่อน  จาก 16,000 บาท/ตัน  เหลือ15,500 บาท/ตัน และราคาข้าวเปลือกก็ไม่ได้ปรับตัวลงมามาก เนื่องจากการแข่งขันโรงสีมีสูง มีการแย่งซื้อข้าวจากชาวนาตามการดำเนินธุรกิจปกติ
 
“วันนี้ชาวนาทั่วประเทศเกี่ยวข้าวนาปรังทั่วประเทศผลผลิตหนาแน่นมาก ทำให้ราคาปรับตัวลงมากในช่วง 2 อาทิตย์นี้ จึงทำให้ผู้ที่มาซื้อข้าวราคาก็ปรับตัวลงตามของที่มีเยอะมากกว่าเป็นกลไกตลาดปกติ แล้วในอนาคตหากมีความต้องการเพิ่ม ราคาก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น  ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่เกษตรกรหันไปปลูกข้าวจัสมินหรือข้าวเวียดนาม ที่ส่งผลทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง”
 
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงสีมีการซื้อเก็บสต็อกข้าวน้อย ซื้อมาขายไปเพื่อทำรอบ เนื่องจากสถาบันการเงิน มีความเข้มงวด มีระเบียบจำกัด ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก แต่ถ้ามีเงินในกระเป๋ามาก ก็ไม่ต้องเร่งทำรอบ ก็สามารถที่จะเก็บสต็อกได้เพื่อรอราคา หรือไม่ต้องทุ่มราคาตลาดมากนัก
 
อย่างไรก็ดีแม้ว่าข้าวจะออกมามาก แต่ก็ถือว่าราคายังดีอยู่ เมื่อเปรียบเทียบจากปีที่แล้ว ซึ่งโรงสีซื้อวัตถุดิบเป็นเงินสด ขายเงินเชี่อ ใช้เงินมาก เมื่อเงินในกระเป๋าน้อยลง ก็ต้องรีบขายเพื่อที่จะได้เงินกลับมาซื้อใหม่ และอยากจะฝากถึงเกษตรกรไม่ต้องกังวลเรารับซื้อข้าวหมดทุกเมล็ดแน่นอนและซื้อเงินสด
 
สอดคล้องกับนายสุทธิ สานกิ่งทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทย  (หยง)   กล่าวว่า ผลผลิตข้าวออกมามาก ราคาไม่น่าจะปรับตัวลงมามากกว่านี้เพราะยังมีความต้องการจากผู้ส่งออกอยู่ มีการซื้อข้าวเรื่อย ๆ และมีเรือเข้ามารอรับสินค้าต่อเนื่อง ราคาข้าวที่ปรับลดลงมามากไม่ได้เป็นเพราะโรงสี แต่เป็นการซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งค่าเงินบาทมีความผันผวนทำให้คนซื้อต้องการซื้อข้าวในราคาที่ต่ำลง เพื่อลดความเสี่ยงขาดทุน
 
“ปีนี้ทางสมาคมส่งออกฯ คาดการณ์ส่งออกข้าวอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว ก็ต้องดูคู่ค้าว่าสถานการณ์เอลนีโญจะมีผลกระทบหรือไม่ ถ้ามีผลกระทบก็อาจจะมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก”
 
ด้านนายสามารถ อัดทอง สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยคนใหม่ กล่าวว่า ทางสมาคมมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดี ให้ได้คุณภาพตามที่กรมการข้าวรับรอง ดำเนินการมาเป็นปีที่ 12 แล้ว เข้าสู่ปีที่ 13 โดยทางสมาคมได้มุ่งมั่นที่จะสานเจตนารมย์ต่อเนื่อง วันนี้ภารกิจใหญ่ก็คือข้าวเวียดนามที่มาระบาดในประเทศไทย เป็นข้าวคุณภาพต่ำ เพียงแต่มีศักยภาพในการปลูกที่ดี ในวันนี้เราได้เรียนรู้พันธุ์ข้าวเวียดนามมาพอสมควรแล้ว และการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์เข้ามาทดแทน แล้วก็นำพันธุ์ข้าวนี้ออกไปจากท้องนาไทย
 
"เราเห็นปัญหามากมายจากข้าวเวียดนาม แต่เราก็ห้ามเกษตรกรปลูกไม่ได้ เกษตรกรชอบ อย่างไรก็ดีอยากจะฝากถึงชาวนาว่าอย่าตื่นกระแสมากเกินไป ให้ศึกษาชนิดพันธุ์ให้ดีก่อน ว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจในการเพาะปลูก และที่สำคัญควรปลูกข้าว ที่ผ่านการรับรองจากกรมการข้าวแล้ว อาทิ กข41,กข61 และ กข85  ก็เป็นพันธุ์ข้าวที่นิยม ให้ผลผลิตสูง ประเมินดูแล้วว่าเป็นเกษตรกรมีความต้องการสูง"
 
 
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายโรงสีได้รับการร้องเรียนว่าราคามีการปรับตัวลง ซึ่งจากการสอบถามไปยังผู้ส่งออกว่าเป็นไปตามกลไกตลาดผลผลิตเริ่มออกมามาก ก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่ในช่วงที่จะเข้าสู่การเพาะปลูกใหม่ ก็อยากจะให้รัฐบาลสนับสนุนแหล่งน้ำให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นความมั่นคงในการทำอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องพันธุ์ข้าว ก็ต้องรอกรมการข้าวประกาศรับรอง10 สายพันธุ์ก่อน และหลังจากชาวนาเอาไปปลูกแล้ว จะเป็นอย่างไร ก็จะนำข้อมูลนี้ไปรายงานร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
 
ปิดท้าย นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย  กล่าวถึงการยกระดับเกษตรกร เพื่อให้ประกอบธุรกิจเกษตรกรรม แนะนำให้เสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อปรับใช้ในการคิดคำนวณต้นทุนแบบธุรกิจเกษตรกรรม เพราะ “อาชีพเกษตรกรรม” คือหนึ่งในธุรกิจทั่วไปที่ใช้หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่อาจมองข้ามหลักการพื้นฐานการคิดคำนวณต้นทุน  ได้แก่ 1.การจดบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่ามากหรือน้อยก็คือสิ่งที่ลงทุนไป 
 
2.ถ้ามีเครื่องมือ เครื่องจักรเอง ต้องตีเป็นค่าจ้าง จะคิดว่าเราไม่ต้องจ้าง และคิดแต่ค่าน้ำมันไม่ได้ เพราะเครื่องมือราใช้เงินทุนซื้อมา ในทางธุรกิจเขาจะบวกเป็นต้นทุน แล้วหักค่าเสื่อมปีละ 5% หรือ 10% ประมาณ 5-10ปี และต้องใส่ค่าเช่านาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วย (ถึงแม้จะเป็นนาของเราเอง) 3. ต้นทุนพื้นฐาน เช่น รถตีดินไร่ละ 250-350 บาท รถย่ำทำเทือกชักร่อง 220 ค่าสูบน้ำทั่วไปนับจ้างชั่วโมงละ 60-70บาท (ท่อขนาด7-8นิ้ว) สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ตีเป็นค่าจ้าง เวลาซ่อมบำรุงเราก็ต้องจ่าย และคนอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ต้นทุนก็ต่างกับคนอยู่ไกลแหล่งน้ำ รวมถึงพันธุ์ข้าว ถึงแม้พันธุ์ข้าวที่เราปลูก แล้วเก็บไว้ปลูกรุ่นต่อไป ก็คืนต้นทุน เพราะไม่ได้มาฟรี ๆ
 
4.เรื่อง เงินลงทุน ถ้าเราไม่จดบัญทึก โดยละเอียด เราจะไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริง เราจะได้แต่ประเมินหรือประมาณ เท่านั้น 5.เรื่องต้นทุนต่อไร่ ให้คำนวณเป็นต้นทุนต่อกิโล จำนวนไร่ถือเป็นกำลังการผลิต คือได้ผลผลิตเท่าไหร่ ก็เอาต้นทุนทั้งหมดตั้ง หารด้วยจำนวนผลผลิตที่ได้ จะเป็นต้นทุนต่อกิโล เพราะชาวนาทำนาตามเนื้อที่บนโฉนด (มากกว่า น้อยกว่าโฉนด)ส่วนใหญ่เป็นนาเช่า บางรายเนื้อที่มาก บางรายเนื้อที่น้อย เช่น1ไร่ เนื้อที่จริงอาจมีมากกว่า หรือน้อยกว่าที่ระบุในโฉนด การใช้ต่อไร่จึงไม่สะท้อนข้อเท็จจริง
 
6. ต้นทุนต่อกิโลกรัมจะผันแปรไปตามผลผลิตที่ได้รับ เงินลงทุนได้จากข้อเท็จจริง ตามที่จ่ายแล้วจดบัญทึก 7. เราจะเห็นได้ว่า ชาวนาบางคนบอกว่า ต้นทุน 3,500/4,500/5,000/6,500/ และ 7,000 / ผลผลิต บางคนบอกว่า 70ถัง/80ถัง/100ถัง/120ถัง/ 130ถัง/จึงเกิดคำถามว่าจริง ๆ แล้วเหลือเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ จดบันทึกต้นทุนอย่างไร ผลผลิตที่แท้จริงเท่าไหร่ ถ้าเราใช้ต้นทุนต่อกิโลกรัม แล้วผลผลิตที่ได้ จะบอกได้ทันทีว่ามีกำไรเท่าไร และต้นทุนเท่าไหร่ต่อกิโลกรัม ถ้าจดไม่ละเอียด ก็ทำไป เข้าเนื้อตัวเอง ไม่รู้ทุน ไม่รู้กำไร ต้นทุนตกหล่น และค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะได้วางแผนในการทำนา ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยิ่งตอนนี้ราคายังดี แต่ถ้าราคาลงต่ำกว่าหมื่น ก็จะเกิดประเด็น ผู้ที่ทำธุรกิจ เขาระมัดระวังเรื่องนี้มาก ใครละเลยไม่ละเอียดพอ อาจขาดทุน ถึงกับเจ๊งได้เลย
 
9. การจดบัญทึกต้นทุน การลงทุน ผลผลิต เรา สามารถนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงแก้ไขได้การใช้ตัวเลข "ต้นทุนต่อไร่" หรือ "ผลผลิตต่อไร่" เป็นการใช้บริหารในภาพใหญ่ตามหลักสากล สำหรับภาครัฐที่ต้องการเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ แต่การคำนวนเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนขายในธุรกิจเพื่อบริหารจัดการให้ได้กำไรสูงสุด ควรใช้ตัวเลข ต้นทุน หรือ กำไรต่อหน่วย
 
สินค้าที่เราผลิตและขาย คือ "กำไรต่อกิโล" หรือ "ต้นทุนต่อกิโล" จะได้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการทราบมากกว่าและ10. ต้นทุนวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากการแบกต้นทุนการเงิน และ ค่าใช้จ่ายครัวเรือนต่างๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถ้าเราจัดการบริหารไม่ดีพอ คือสิ่งที่กินตัวเราเองทุกวัน “รายได้ ไม่พอรายจ่าย”
 
สรุป หลายหลายคนอาจจะบอกว่าจดทุกอย่างทำให้ต้นทุนสูงและทำไม่ได้ อย่ามองแบบนี้เพราะการลงต้นทุนทั้งหมดตามจริง แม้จะดูว่าต้นทุนสูงมาก แต่จะทำให้ท่านได้รู้ว่ากำลังทำอะไร เพราะเหตุผลใด จากข้อมูลที่ตรงไปตรงมาสามารถรู้จุดอ่อนจุดแข็งหรือรูรั่วของแต่ละท่านเพื่อจัดการต่อ สุดท้ายก็อยู่ที่ท่านๆเราๆว่าจะวางแผนสำหรับฤดูเพาะปลูกถัดไปอย่างไร “ต้นทุนก็คือทุน กำไรก็คือกำไร ไม่งั้นจะกินทั้งกำไรและทุน”
 
 
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)