หลักสูตร "Vietnam Business Trip and Executive Program" ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ บริษัท อี-บิสสิเนส เซ็นเตอร์ จำกัด (TeC)

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 นายคมกริช วรคามิน ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ได้รับเชิญเป็นผู้แทนในการบรรยายในหลักสูตร “Vietnam Business Trip ad Executive Program” แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ “รสนิยมทางด้านการทำธุรกิจในประเทศเวียดนาม” โดยได้กล่าวไว้บางตอนดังนี้ ในอดีต เวียดนามเป็นที่รู้จักจากสงครามกับสหรัฐฯ แต่บัดนี้ เวียดนามกำลังตื่นจากการหลับใหล หันไปสู่วิถีปฏิรูปเศรษฐกิจ เศรษฐกิจทางการตลาด เวียดนามมุ่งพัฒนาประเทศแข็งขัน
 
• ประการแรก ขอแสดงความยินดีต่อผู้ร่วมการสัมมนาทุกท่าน ที่จะเดินทางไปเยี่ยมเยือนเวียดนามในเร็ว ๆ นี้ เมื่อ 2 ปีครึ่งก่อนนี้ มีโรคระบาดโควิด-19 ปิดการติดต่อกัน
• ประการที่ 2 สำหรับหัวข้อนี้ หากใช้ภาษาไทยมาเป็นเกณฑ์ ก็ต้องเข้าใจไว้ก่อนว่า นักธุรกิจผู้ค้าและลงทุนจะต้องยึดถือหลักการ “มุ่งหาผลกำไร” เป็นที่ตั้ง เป็นที่เข้าใจได้ เขาจะต้องมีความพร้อมที่จะศึกษาเข้าใจกฎระเบียบในประเทศเป้าหมายอย่างถ่องแท้ รับทราบถึงโอกาสการค้าการลงทุน ตลาด ความพึงพอใจของสินค้าจากไทย เพราะเราคงต้องคัดเลือก (selective) สักหน่อยในการเปิดตลาดกับเวียดนาม เขาต้องการอะไร เราคงมิใช่ไปเสนอเปิดกว้างทุกอย่างแบบ opened ended เช่น เราอาจศึกษาตารางประเภทสินค้าส่งออกของไทยว่ามีสินค้าอะไรที่เด่นพิเศษ หรือมีศักยภาพสูง เป็นต้น เราอาจไปดูตารางการค้าการส่งออกของประเทศสำคัญ ๆ กับเวียดนาม ว่ามีอะไรเด่นน่าสนใจบ้าง นอกจากนี้ ในการค้าการลงทุน เราก็อาจศึกษาดูว่า การลงทุนเด่น ๆ มีอะไร อะไรอยู่ในความสนใจของเพื่อนนักธุรกิจนักลงทุนในตลาดเวียดนาม อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เวียดนามนิยมสินค้านำเข้าจากประเทศไทย อาทิ ผลไม้ไทย เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า รองเท้า กล่าวคือ สินค้าอุปโภค บริโภค ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต งานแฟร์โปรโมทสินค้าไทยทุกครั้ง
 
• ประการที่ 3 กี่ตั้งหัวข้อใช้ภาษาอังกฤษว่า business etiquette นี้ เราควรพิจารณาก่อนว่า มีความหมายเช่นไรจริง ๆ เช่น ตามพจนานุกรม Oxford บัญญัติไว้ว่า etiquette เป็น “rules for formal behavior among people, or in a class of society or a profession: medical/legal/diplomatic” หากจะเรียกว่า “ระเบียบหรือมารยาททางธุรกิจ” เราจะพิจารณาจากแง่มุมใด  มารยาทสำคัญ ๆ อะไรบ้าง – นัดหมาย ตรงต่อเวลา เปิดเผย จริงใจ ไม่เอาเปรียบ ไม่ผูกขาด ทำลายธุรกิจคู่แข่งท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 
• ประการที่ 4 ในมุมกว้าง เราควรไปศึกษาใน1) กฎหมายว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศในเวียดนาม และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้ถ่องแท้ 2) นโยบายของรัฐบาลเวียดนาม ด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ มุ่งเน้นสาขาอะไร สาระสำคัญ ๆ ความยืดหยุ่น จุดเด่น จุดแข็ง 3) สำรวจศักยภาพและความพร้อมของตนเองในการเปิดตลาดกับเวียดนาม
 
• ประการที่ 5 หากในการเยือนของคณะในเร็ว ๆ นี้ เราคาดหมายเช่นไรในการไปพบปะแนะนำตนเองกับบริษัทที่เป็นเป้าหมาย เช่น 1) Zalo 2) FPT Software 3) TIKI.VN ซึ่งเป็น E-commerce ยักษ์ใหญ่ และ 4) Mega Market ทำธุรกิจด้าน B2B หรือ ธุรกิจถึงมือผู้ซื้อโดยตรง สุดท้าย เราพิจารณาว่าสายป่านของตนเองยาวเพียงไรและมีความอดทนเช่นไร เป็นต้น เรามีพันธมิตร เพื่อนคู่ค้า ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่เช่นไร ไว้ใจได้เพียงไร
 
• ประการที่ 6 เราควรศึกษาพัฒนาการและตลาดด้าน E-commerce ของเวียดนาม เป็นพื้นฐานไว้ด้วย ในช่วงและหลังโควิด-19 เป็นต้นมา มีแนวโน้มไปทาง E-commerce ยิ่งขี้น สืบเนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เน้นในเรื่องสุขอนามัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม อาหาร เขาตามหลังเล็กน้อยและใกล้จะแซงประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้ เราอาจผ่านตาข้อมูลข่าวสารในวารสารนิตยสารต่างๆ ของเวียดนาม จำนวนหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ หรือค้นคว้ากับเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ สถานกงสุลใหญ่ฯ สำนักงานการค้าในต่างประเทศ ที่ฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ ได้ นอกจากนี้เป็น แหล่งข่าวที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ในไทย เป็นต้น
 
 
นอกจากนี้ ผู้บรรยายให้รายละเอียดข้อมูลพื้นฐานของเวียดนามสำคัญ ๆ ที่อาจมีความน่าสนใจในการทำธุรกิจ อาทิ ขนาด ศักยภาพ ทรัพยากรของประเทศ ประชากร แรงงาน การค้าการลงทุน เขตการค้าเสรีกับต่างประเทศสำคัญ ๆ เป็นต้น ที่น่าติดตามเป็นพิเศษ คือความเป็นมิตรสหายปฏิวัติ  ความสัมพันธ์พิเศษของเวียดนาม จีน หลังการประชุมสมัชชาแห่งชาติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามและจีนเมื่อปีกลายและปีนี้ตามลำดับ และการแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ประเทศกลายเป็น ”ประเทศพัฒนาแล้วตามแนวทางสังคมนิยม” และ “ให้เป็นสังคมนิยมสมัยใหม่” ตามลำดับ
 
ในโอกาสนี้ ผู้บรรยายกล่าวให้ความสำคัญแก่การขอไปเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย พบปะหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม หรือที่เรียกสั้น ๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า ThaiCham เพิ่งได้รับการจัดตั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ และทีมไทยแลนด์ กอปรด้วย สำนักงานการค้าในต่างประเทศ สำนักงาน BOI ที่กรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่นครโฮจิมินห์ เป็นต้น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคาร EXIM Bank หากติดต่อประสานงานกันเนิ่น ๆ ก็อาจร่วมในโครงการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะนำนักธุรกิจไทย และ SMEs เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเน้นสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น พลังงานทดแทน ธุรกิจสตาร์ทอัพ อุตสาหกรรม ICT เป็นต้น ซึ่งเป็นการดีช่วยนำทางและเปิดประตูแก่ภาคเอกชนไทยอย่างมาก
 
พร้อมนี้ ผู้บรรยายได้มอบหนังสือที่ประพันธ์ขึ้น 2 เรื่อง แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่โชคดีไว้เป็นอภินันทนาการ ได้แก่ “รวมงานเขียนเรื่องการต่างประเทศของไทยและเวียดนาม” (พิมพ์เมื่อปี 2563) และ “บันทึกนักการทูต” (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อต้นปีนี้) โดยการสนับสนุนการจัดพิมพ์ของประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เล่มหลังจัดจำหน่ายโดยบริษัทเคล็ดไทยและวางจำหน่ายที่ร้านหนังสือพิมพ์ชั้นนำทุกแห่ง เมื่องานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่12-23 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ไปวางโปรโมชั่น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)